วันเสาร์ที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2551

Impression

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีกิจกรรมและสถานที่ต่างๆมากมาย ที่จัดทำเพื่อให้ความรู้ เสริมสร้างประสบการณ์ต่างๆแก่ผู้เรียน ผู้ศึกษา จนกระทั้งบุคคลทั่วไป



- สิ่งแรกที่ข้าพเจ้าประทับใจ คือ สำนักหอสมุด อาคารเทพรัตน์วิทยาโชติ




อาคารเทพรัตน์วิทยาโชติ ( ศูนย์การเรียนรู้ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ : อาคารการเรียนรู้ ) เป็นอาคารหลังใหม่ของสำนักหอสมุด ได้ก่อสร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเนื่องในโอกาสที่ทรงเจริญพระชนมายุ 48 พรรษา โดยมุ่งเน้นให้เป็นศูนย์เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ด้วยตนเอง( Self Learning Center ) เพื่อรองรับการก้าวเป็น e – University ประกอบกับอาคารสำนักหอสมุดหลังปัจจุบันเริ่มคับแคบ ทางผู้บริหารมหาวิทยาลัย จึงได้ผลักดันให้เกิดการก่อสร้าง อาคารการเรียนรู้เพื่อเพิ่มพื้นที่การให้บริการด้านการใช้ห้องสมุดทั้งนิสิตและบุคลากรของมหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์และประชาชนทั่วไป โดยใช้งบประมาณการก่อสร้างและการตกแต่งทั้งสิ้น จำนวน 222 ล้านบาทสร้างแล้วเสร็จเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2549 และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดอาคารเมื่อวันศุกร์ที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2549 และพระราชทานชื่ออาคารนี้ว่า อาคารเทพรัตน์วิทยาโชติ ซึ่งมีความหมายว่า อาคารที่รุ่งเรืองด้วยความรู้อันวิเศษดุจดวงแก้วแห่งเทพ

ภายในอาคารเทพรัตน์วิทยาโชติ ท่านสามารถสืบค้น ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ฉบับเต็ม (Fulltext) ได้มากมาย ได้แก่ หนังสืออิเล็กทรอนิกส์มากกว่า 40,000 เล่ม วารสารอิเล็กทรอนิกส์ ไม่ต่ำกว่า 7,511,303 บทความ และวิทยานิพนธ์อิเล็กทรอนิกส์อีก 3,850 เล่มจากฐานข้อมูลครอบคลุมทุกสาขาไม่ตำกว่า 30 ฐาน นอกจากนั้นท่านยังได้รับสาระและบันเทิงจาก Edutainment Zone จำนวน 68 เครื่อง ห้องสืบค้นข้อมูลผ่านอินเทอร์เน็ตประมาณ 80 เครื่อง และห้องดูทีวีแบบสบายสบายๆจำนวน 20 ที่นั่งตลอดจนที่นั่งอ่านหนังสือแบบทันสมัย ตื่นตา ตื่นใจ อาคารเทพรัตน์วิทยาโชติ เป็นอาคารเอกเทศ 5 ชั้น มีพื้นที่ใช้สอย 14,085 ตารางเมตร แบ่งตามประโยชน์การใช้สอย ดังนี้




ชั้นใต้ดิน ที่จอดรถ ห้องช่าง





















ชั้นที่ 1 - พื้นที่ส่วนจัดนิทรรศการ บริการอินเทอร์เน็ต ภายในห้องอินเทอร์เน็ตถูกตกแต่งอย่างสวยงาม พร้อมคอมพิวเตอร์ ประมาณ 80 เครื่อง สำหรับการค้นคว้าหาความรู้ตลอดจนสืบค้นฐานข้อมูลต่างๆที่สำนักหอสมุดจัดหามาเพื่อสนับสนุนการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยมีบริการต่างๆได้แก่ บริการตอบคำถามและช่วยการค้นคว้า เป็นบริการที่ช่วยแนะนำผู้ใช้ในการเข้าใช้บริการต่างๆเช่น การค้นหนังสือ การค้นฐานข้อมูล เป็นต้น บริการช่วยการสืบค้นข้อมูล ( Searching Supporter ) บริการที่เน้นช่วยเหลือผู้ใช้สืบค้นข้อมูลในเชิงลึกจากฐานข้อมูลต่างๆ เพื่อให้ตรงตามความต้องการของผู้ใช้มากที่สุด บริการยืม - คืน บริการ ให้ยืมทรัพยากรห้องสมุด จองหนังสือ สมัครสมาชิกและให้บริการเครื่องยืมคืน ด้วยตนเอง บริเวณอ่านหนังสือพิมพ์และวารสารบันเทิง มุมสำหรับดูทีวี และ ที่นั่งอ่านแบบสบายสบาย เพื่อสร้างความรู้สึกผ่อนคลาย อยากเข้ามาใช้บริการมากขึ้น สำหรับชั้น 1 นี้ได้ออกแบบให้มีสีสันเป็นรูปของใบไม้ เพื่อดูสบายตาและผ่อนคลาย






ชั้นที่ 2 พื้นที่ส่วน Edutainment Zone คือเป็นพื้นที่รวมและผสมผสาน ระหว่างการศึกษาหาความรู้ ( Education ) กับความบันเทิง( Entertainment ) เข้าด้วยกันประกอบด้วยบริการสื่อมัลติมีเดีย ห้องชมภาพยนตร์ เคเบิลเทวี VDO CD On Demand ห้องฝึกภาษา ห้องอบรมการใช้สารสนเทศ ห้องประชุม สำหรับชั้น 2 ได้ออกแบบให้มีสีสันเป็นรูปของดอกไม้ ( สีชมพู ) เพื่อดูสดชื่นมีชีวิตชีวา




ชั้นที่ 3 ประกอบด้วย ศูนย์ความรู้ด้านการเกษตร (AGKC) ศูนย์สารสนเทศทางการเกษตรแห่งชาติ (TNAC) ศูนย์สนเทศทางกระบือนานาชาติ (IBIC) ห้องศึกษาเดี่ยว และห้องศึกษากลุ่ม

และพื้นที่สำนักงานของฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ และฝ่ายสารสนเทศ สำหรับชั้น 3 ได้ออกแบบให้มีสีสันเป็นรูปของผักและผลไม้ เพื่อให้เข้ากับแนวคิดด้านการเกษตร




ชั้นที่ 4 ประกอบด้วยพื้นที่นั่งอ่าน ห้องภูมิปัญญา มก . ส่วนสำนักงานฝ่ายบริหาร ได้แก่ ผู้อำนวยการ รองผู้อำนวยการ และสำนักงานเลขานุการ นอกจากนี้ยังประกอบไปด้วยห้องประกันคุณภาพ ห้องประชุม 3 ห้องอาหารของเจ้าหน้าที่ และหอจดหมายเหตุ มก . สำหรับชั้น 4 ได้ออกแบบให้มีสีสันซึ่งเป็นสีสัญลักษณ์ของสำนักหอสมุด คือ สีส้ม




ชั้นที่ 5 ที่ตั้งศูนย์นานาชาติสิรินธรเพื่อการวิจัย พัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีห้องประชุมใหญ่ และห้องทรงงานของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี



บริเวณรอบๆ อาคาร ได้จัดเป็นสวนพฤกษศาสตร์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยมีพืชทั้งหมดประมาณ 270 ชนิด






- สิ่งที่ข้าพเจ้าประทับใจ อีกอย่างหนึ่ง ก็คือ โครงการวิทยาเขตสีเขียว (Green Campus)


มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน ตั้งอยู่บนพื้นที่ 800 กว่าไร่ เป็นพื้นที่ที่ใช้ประโยชน์ร่วมกันระหว่าง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีนิสิตในทุกระดับปริญญากว่า 20,000 คน บุคลากรกว่า 3,000 คน นักเรียนโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 3,000 คน และบุคลากรของกระทรวงเกษตรฯ 3,000 คน ดังนั้น การดูแลพื้นที่ การจัดระบบการจราจรและการดูแลรักษาความปลอดภัย จึงต้องดำเนินการร่วมกันระหว่าง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และกระทรวงเกษตรฯ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตระหนักถึงการรณรงค์ส่งเสริม การอนุรักษ์สภาพแวดล้อม และช่วยลดภาวะโลกร้อน ดังนั้นจึงได้ริเริ่มดำเนินการ โครงการวิทยาเขตสีเขียว (Green Campus) ขึ้น โดยมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องในเรื่องของการจราจรภายในวิทยาเขต 3 โครงการดังนี้




1. การบริการรถรับ-ส่ง ภายในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน เพื่อเน้นการลดการใช้รถยนต์ของนิสิต บุคลากร และบุคคลภายนอก ภายในพื้นที่ของมหาวิทยาลัยฯ มหาวิทยาลัยฯ จึงได้วางแผนการจราจรภายในวิทยาเขต โดยจัดสร้างอาคารจอดรถริมถนนรอบมหาวิทยาลัยฯ ทั้ง 4 ด้าน (ขณะนี้ดำเนินการก่อสร้างเสร็จแล้ว 2 ด้าน) เพื่อให้ผู้ที่นำรถยนต์ เข้ามาภายในมหาวิทยาลัยฯ นำรถเข้าจอดในอาคารจอดรถ แล้วใช้รถที่มหาวิทยาลัยฯ จัดให้บริการภายในพื้นที่มหาวิทยาลัยโดยไม่คิดค่าโดยสาร สำหรับรถที่จัดให้บริการนั้นมี 3 ประเภท ได้แก่ รถเครื่องยนต์ดีเซล จำนวน 13 คัน รถบัสเล็ก ขนาด 20 ที่นั่ง ใช้ก๊าซธรรมชาติ NGV 2 คัน ( จะเพิ่มเป็น 12 คัน ภายในเดือนตุลาคม 2551 ) และรถไฟฟ้าขนาด 8 ที่นั่ง 10 คัน



2. การจัดระบบรถมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ด้วยขนาดพื้นที่ที่กว้างขวางของ มก. บางเขน ทำให้มีความต้องการของผู้ใช้บริการรถมอเตอร์ไซค์รับจ้างภายในบริเวณมหาวิทยาลัยฯ ซึ่งการที่จะให้ยกเลิกหรือห้ามคงกระทำได้ยาก เพื่อให้นิสิต บุคลากร และบุคคลภายนอกได้รับการบริการที่ดีและปลอดภัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จึงได้ดำเนินการจัดระบบรถมอเตอร์ไซค์รับจ้างในลักษณะเดียวกันกับที่รัฐบาลดำเนินการ โดยได้จัดอบรมให้กับผู้ให้บริการรถมอเตอร์ไซด์รับจ้างให้ทราบถึง ความรู้ด้านการขับขี่ที่ปลอดภัย การขึ้นทะเบียนผู้ขับขี่ และการจัดตั้งคณะกรรมการไตรภาคี (ผู้ขับขี่ - ผู้ใช้บริการ – และมหาวิทยาลัยฯ) เพื่อทำหน้าที่กำกับดูแลและวางระเบียบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง




3. การจัดทำโครงการวางผังแม่บทระบบสัญจรสีเขียวคณะกรรมการพัฒนาทางกายภาพของมหาวิทยาลัยฯ มอบหมายให้คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ดำเนินการจัดทำโครงการวางผังแม่บททางภูมิทัศน์ประสานระบบสัญจรสีเขียว สะอาด เพื่อพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน โดยเป้าหมายหลักของโครงการนี้ คือการนำรถจักรยานกลับมาใช้ ทั้งนี้จะต้องมีการปรับปรุงเส้นทางเพื่อใช้สำหรับรถจักรยานโดยเฉพาะ จัดให้มีถนนคนเดิน รวมทั้งจัดบริการรถจักรยานฟรี สำหรับให้นิสิตยืมใช้โดยโครงการนี้จะแบ่งการดำเนินการออกเป็นระยะ ๆ และจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่ต้นเดือนสิงหาคม 2551 เป็นต้นไป และคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จทั้งหมดภายในปี 2551 นี้




และนี่คือ ส่วนหนึ่งของความประทับใจที่ข้าพเจ้าภูมิใจนำเสนอ



อบคุณค่ะที่เยี่ยมชม